เข็มสาวดอย ๑

Mycetia glandulosa Craib

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกเรียบ สีขาวหรือสีนวล กิ่งเปราะและหักง่าย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม ผลแก่สีขาว เมล็ดเล็กรูปลิ่ม สีดำ

เข็มสาวดอยชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กสูง ๑-๒ ม. เปลือกเรียบ สีขาวหรือสีนวล กิ่งเปราะและหักง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๘-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน มีขนประปรายด้านล่างมีขนยาวหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๒๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งช่อยาว ๔-๗ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๖-๑๐ ซม. ก้านช่อยาว ๐.๕-๒ ซม. ก้านดอกยาว ๔-๕ มม. ก้านช่อดอกและก้านดอกมีขนเป็นหนามแข็ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมขอบแฉกมีขนต่อม ๓-๔ เส้น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ มม. ด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูโผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๘-๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๒ มม.

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. ผลแก่สีขาว ผิวเกลี้ยงมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก รูปลิ่ม สีดำ

 เข็มสาวดอยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนเป็นผลเดือนเมษายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มสาวดอย ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mycetia glandulosa Craib
ชื่อสกุล
Mycetia
คำระบุชนิด
glandulosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ